ประวัติความเป็นมา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นตามกฎกระทรวงการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๓ ตอนที่ ๑๑๘ ก วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘

มีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี โดยจัดการศึกษาใน ๖ เขตพื้นที่ ได้แก่ เขตพื้นที่ภาคพายัพ เชียงใหม่ เขตพื้นที่ตาก เขตพื้นที่เชียงราย เขตพื้นที่ลำปาง เขตพื้นที่น่าน และเขตพื้นที่พิษณุโลก ทั้งนี้ได้จัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น ๖ สาขา(ภาควิชา) แบ่งเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ๑๒ สาขาวิชา และระดับปริญญาตรี ๑๘ สาขาวิชา ดังต่อไปนี้

๑. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน ๔ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาไฟฟ้า สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์สื่อสาร และสาขาวิชาเทคนิคคอมพิวเตอร์ และในระดับปริญญาตรี จำนวน ๖ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า สาขาวิชาครุศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาครุศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สาขาวิชาเทคโนโลยีโทรคมนาคม และสาขาวิชาครุศาสตร์คอมพิวเตอร์

๒. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน ๓ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชากลเกษตร และสาขาวิชาช่างจักรกลหนัก และในระดับปริญญาตรี จำนวน ๕ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาครุศาสตร์เครื่องกล สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร และสาขาวิชาเทคโนโลยีเหมืองแร่

๓. สาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาช่างก่อสร้าง และสาขาวิชาช่างโยธา และในระดับปริญญาตรี จำนวน ๔ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาครุศาสตร์โยธา สาขาวิชาเทคโนโลยีโยธา และสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

๔. สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ จัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน ๓ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาช่างกลโรงงาน สาขาวิชาช่างโลหะ และสาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม และในระดับปริญญาตรี จำนวน ๓ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาครุศาสตร์อุตสาหการ และสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ

๕. สาขาครุศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยี

๖. สาขาวิศวกรรมพลังงานและเทคโนโลยี

พุทธศักราช ๒๕๕๐

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ นายกสภามทร.ล้านนา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คนแรก คือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สนิท พิพิธสมบัติ

และอธิการบดีลงนามคำสั่งแต่งตั้งรองคณบดีกลาง จำนวน ๓ ราย คือ

๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรพรรณ นันทวงศ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร
๒.นายสิงห์คาน แสนยากุล ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา และ
๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิพนธ์ เลิศมโนกุล ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา

รองคณบดีเขตพื้นที่ จำนวน ๒ ราย คือ

๑.นายกิจจา ไชยทนุ ดำรงตำแหน่งรองคณบดี ตาก และ
๒.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิติพงษ์ สมไชยวงศ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดี เชียงราย

ผู้ช่วยคณบดีกลาง จำนวน ๔ ราย คือ

๑.นายเอกชัย กิตติวารากูล ดูแลงานบริหาร
๒.ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัชรนันท์ เกตุทิม ดูแลงานกิจการนักศึกษา
๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรีดิเรก มณีวรรณ ดูแลงานประกันคุณภาพการศึกษา และ
๔.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิพนธ์ วงศ์ทา ดูแลงานวิจัย

และต่อมาได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ ตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘ ให้แบ่งส่วนราชการในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็น สำนักงานคณบดี

สำนักงานคณบดีก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานนโยบายของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สู่หน่วยงานที่ปฏิบัติโดยผ่านหน่วยงานในสำนักงานคณบดี และประสานงานกับคณะเขตพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบริหารงานภายใต้นโยบายบริหารแบบกระจายอำนาจความรับผิดชอบ การบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเรียบร้อย ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่คณะกำหนดไว้ นอกจากนี้สำนักงานคณบดี ยังมีหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาหน่วยงานในสำนักงาน ให้เพิ่มพูนศักยภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานสามารถรองรับการบริหารคณะได้เป็นอย่างดี

วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐ มีประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการเป็นงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนี้ ๑.งานบริหารทั่วไป ๒.งานวิชาการและกิจการนักศึกษา ๓.งานวิจัยและพัฒนา

ได้เปิดหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี ๑ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมแม่พิมพ์ ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๐ โดยจัดการเรียนการสอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคพายัพ เชียงใหม่

พุทธศักราช ๒๕๕๓

วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๓ อธิการบดีได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฏิญาณ สุทธิเวช แทน นายสิงห์คาน แสนยากุล ที่ลาออกจากตำแหน่ง
หมายเหตุ (เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓, เกษียณอายุราชการ)

และได้แต่งตั้งผู้ช่วยคณบดีกลาง จำนวน ๓ ราย คือ

๑.นายศิวโรฒม์ ศิริลักษณ์ ดูแลงานบริการวิชาการ
๒.นายเชษญ อุทธิยัง ดูแลงานวิชาการ และ
๓.นายณรงค์ นันทกุศล ดูแลงานกิจการนักศึกษา

ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ได้ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี ทุกสาขาวิชาตามกรอบระยะเวลา และได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเหมืองแร่ เป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ และชะลอการเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาครุศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์(ต่อเนื่อง) และสาขาวิชาเทคโนโลยีโยธา(ต่อเนื่อง)

พุทธศักราช ๒๕๕๔

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ นายกสภามทร.ล้านนา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คนที่สอง คือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ อยู่สวัสดิ์

และอธิการบดีลงนามคำสั่งแต่งตั้งรองคณบดีกลาง จำนวน ๓ ราย คือ

๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นทีชัย ผัสดี ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร
๒.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา ยืนยงกุล ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา และ
๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา

รองคณบดีเขตพื้นที่ จำนวน ๖ ราย คือ

๑.นายชาคริต ชูวุฒยากร ดำรงตำแหน่งรองคณบดี ภาคพายัพ
๒.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธงชัย เบ็ญจลักษณ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดี ตาก
๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิติพงษ์ สมไชยวงศ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดี เชียงราย
๔.ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธากร พลาอาด ดำรงตำแหน่งรองคณบดี น่าน
๕.นายณัฐกิตติ์ โพธิ์วิชัย ดำรงตำแหน่งรองคณบดี ลำปาง และ
๖.นายกมลศักดิ์ รัตนวงษ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดี พิษณุโลก

ผู้ช่วยคณบดีกลาง จำนวน ๒ ราย คือ

๑.นายมานัส สุนันท์ ดูแลงานหลักสูตรและคุรุสภา และ
๒.นายณรงค์ นันทกุศล ดูแลงานสหกิจ กิจกรรมนักศึกษาและสารสนเทศ

ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี ๒ สาขาวิชา ได้แก่ ๑.สาขาวิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ และ ๒.สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยทั้ง ๒ สาขาวิชาได้พัฒนาเป็นหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ๒ สาขาวิชาแรกของคณะ และเริ่มจัดการเรียนการสอน ณ มทร.ล้านนา เชียงราย และ มทร.ล้านนา ตาก ตามลำดับ

ได้ชะลอการเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี ๑ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาครุศาสตร์คอมพิวเตอร์

วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ อธิการบดีลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองคณบดี น่าน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธากร พลาอาด แทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ กาญจนพิบูลย์ ที่เกษียณอายุราชการ

พุทธศักราช ๒๕๕๕

ได้ปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ๑๗ สาขาวิชา และได้ปรับปรุงชื่อหลักสูตรปริญญาตรี ๑ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและชีวภาพ(เดิม วิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร) โดยเริ่มใช้จัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา ๒๕๕๕ และได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาโท ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคพายัพ เชียงใหม่ จัดการเรียนการสอน สาชาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ เป็นรุ่นแรก

พุทธศักราช ๒๕๕๖

ได้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาคสมทบ โดยจัดการเรียนการสอนที่ มทร.ล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่

ได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ๑๑ สาขาวิชา และพัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการผลิต และสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม ปริญญาโท ๑ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมกระบวนการผลิตและวัสดุ (ทั้ง ๑๓ หลักสูตรยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนา)

พุทธศักราช ๒๕๕๗

ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี ๒ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ และสาขาวิชาเทคนิควิศวกรรม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ๑ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิควิศวกรรม (ทั้ง ๒ หลักสูตรยังอยู่ระหว่างการพัฒนา)

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ อยู่สวัสดิ์ คณบดี ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง และสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบการลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และเห็นชอบให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา ยืนยงกุล ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนคณบดี ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ในการประชุม ครั้งที่ ๗๕(๖/๒๕๕๗) เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายกสภามทร.ล้านนา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา ยืนยงกุล

และวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ อธิการบดีลงนามคำสั่งแต่งตั้งรองคณบดีกลาง จำนวน ๓ ราย คือ

๑.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นทีชัย ผัสดี ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านบริหาร ยุทธศาสตร์และแผน
๒.นายมานัส สุนันท์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านวิชาการและกิจการนักศึกษา และ
๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี

รองคณบดีเขตพื้นที่ จำนวน ๖ ราย คือ

๑.นายชาคริต ชูวุฒยากร ดำรงตำแหน่งรองคณบดีประจำจังหวัดเชียงใหม่
๒.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธงชัย เบ็ญจลักษณ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีประจำจังหวัดตาก
๓.ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิติพงษ์ สมไชยวงศ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีประจำจังหวัดเชียงราย
๔.ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธากร พลาอาด ดำรงตำแหน่งรองคณบดีประจำจังหวัดน่าน
๕.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันไชย คำเสน ดำรงตำแหน่งรองคณบดีประจำลำปาง และ
๖.นายกมลศักดิ์ รัตนวงษ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีประจำพิษณุโลก

โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เป็นไปตามกฏกระทรวงการจัดตั้งหน่วยงาน จึงควบรวมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ และให้เปลี่ยนมาสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ทั้งนี้กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ ได้จัดเวทีรับฟังการชี้แจงจากผู้บริหารกรณีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความชัดเจนในการบริหารงานงานบุคคล โดยมีคณาจารย์และบุคลากรเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุม ๓ อาคารเรียนรวม

จึงทำให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ถูกควบรวมเข้ากับหน่วยงานของส่วนกลาง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคพายัพ เชียงใหม่ ถ่ายโอนงบประมาณ ทรัพยากร บุคลากร นักศึกษา มายังคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้การบริหารงานของคณบดี ดังนั้น รองคณบดีเขตพื้นที่ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ คือ นายชาคริต ชูวุฒยากร จึงหมดวาระไป

พุทธศักราช ๒๕๕๘

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๘ นายกสภามทร.ล้านนา ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คือ

ดร.กิจจา ไชยทนุ (เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๘)

และวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ อธิการบดีลงนามคำสั่งแต่งตั้งรองคณบดี จำนวน ๓ ราย โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ได้แก่

๑. รองศาสตราจารย์ ดร.โกศล โอฬารไพโรจน์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านวิชาการ

๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา ยืนยงกุล ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านบริหาร และ

๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมโภชน์ กูลศริศรีตระกูล ดำรงตำแหน่งรองคณบดีด้านพัฒนาคุณภาพนักศึกษา

และ พ.ศ. ๒๕๕๘ อธิการบดีลงนามคำสั่งแต่งตั้งผู้ช่วยคณบดี จำนวน ๓ ราย โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว ได้แก่
๑. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน คำน่าน ด้านวิจัยและวิเทศสัมพันธ์

๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นทีชัย ผัสดี ด้านแผนพัฒนาและการประกันคุณภาพการศึกษา และ

๓. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร.ต.ดิเรก มณีวรรณ ด้านกิจการนักศึกษา

ปิติพงษ์ คำแก้ว /ผู้เรียบเรียง
ปรับปรุง เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๘

เกี่ยวกับเรา
ข่าวสารล่าสุด